top of page

ประวัติแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต 

(นามเดิม : ศันสนีย์ ปัญญศิริ)

31 ตุลาคม พ.ศ. 2496 – 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564

 

วันเกิดทางโลก : 31 ตุลาคม พ.ศ. 2496  

ท่านเกิดที่ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ได้ประกวด ‘มิสออด๊าซ’ ประจำปี พ.ศ. 2518 โดยได้รางวัลรองมิสออด๊าซ หลังจากนั้นได้ทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เป็นนางแบบ และเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น
 

วันเกิดทางธรรม : 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523  เมื่ออายุ 27 ปี ท่านสละทางโลกเข้าสู่บวรพุทธศาสนาด้วยการบวชชี ที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต โดยมี พระครูภาวนาภิธาน วิ. (เส็ง ยสินฺทโร) เป็นพระอุปัชฌาย์

หลักการทำงาน

ท่านแม่ชีศันสนีย์ ได้กล่าวถึงหลักการทำงานของท่านไว้ว่า "พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า 'ธิดาของเราเป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดในทาง และมิใช่ทาง' การเดินทางอยู่บนหนทางที่ประกอบด้วยปัญญา ศีล สมาธิ หรืออริยมรรคมีองค์ 8 ทำให้ข้าพเจ้าอาจหาญโดยธรรม และสามารถพิสูจน์ได้ว่า ธรรมะศักดิ์สิทธิ์จริงและเห็นผลจริงเมื่อเราใช้จริง ด้วยลมหายใจเข้าที่สงบเย็นและมีลมหายใจออกที่เป็นประโยชน์ รู้จักใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต เพื่อเปลี่ยนจาก ‘การเป็นทุกข์’ สู่ ‘การเห็นทุกข์’ ดำเนินชีวิตอย่างรู้ ตื่น และเบิกบาน ดังอริยสัจจากพระโอษฐ์ที่ว่า 'การเป็นพระอริยเจ้าไม่ใช่สิ่งสุดวิสัย' อันเป็นพุทธประสงค์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยศักยภาพของมนุษย์ที่จะต้องไปให้ถึง คือการใช้โอกาสในการเกิดนี้เป็นการเกิดที่ไม่เกิดอีกแห่งทุกข์ และใช้ คุณธรรม 8 ประการของพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ คือ ไม่มีความถือตัวอวดดี ไม่มีความโง่เขลา ไม่มีความอาฆาตพยาบาททั้งปวง ไม่มีความอิจฉาริษยา ไม่มีความคิดเห็นที่ผิด ไม่มีความโลภ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น และไม่มีความยึดติด ความเคลือบแคลงสงสัยทั้งปวง จึงทำงานอย่างสงบเย็น เป็นประโยชน์ ยากอย่างไรจะทำให้สำเร็จด้วยปัญญา”

พ.ศ. 2530 ก่อตั้ง ‘เสถียรธรรมสถาน’ กรุงเทพมหานคร  

เพื่อเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยมีธรรมนำทาง ทำงานสร้างชีวิตในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อสร้างสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์ร่วมกัน   โดยสร้างให้สถานที่นี้เป็น ‘สวนธรรม’ ที่สัปปายะ ส่งเสริมการบรรลุธรรม มิใช่สวนสาธารณะ  

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา เสถียรธรรมสถานมีนวัตกรรมการฉุดช่วยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งงานเชิงรุกและเชิงรับใน 3 สาขา ได้แก่  ‘งานสร้างโลกโดยผ่านเด็ก’ (งานเด็กและสตรีเพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่ ครู ครอบครัว และโรงเรียน ร่วมกันพัฒนามนุษย์ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตและทุกช่วงชีวิตของการเติบโต)   ‘งานโลกสวยด้วยพระธรรม’ (งานนำธรรมะมาเผยแผ่ด้วยวิธีที่เหมาะกับคนแต่ละเพศวัย)  และ ‘งานโลกสวยด้วยน้ำใจ’ (การส่งเสริมจิตอาสาสหวิชาชีพเพื่อส่งเสริมให้คนพึ่งตนเองได้และให้คนอื่นเป็น  ใช้งานเป็นฐานแห่งการปฏิบัติธรรมและสร้างศานติสู่สังคม) 

พ.ศ. 2560 ก่อตั้ง ‘ธรรมาศรม’ เพื่อเผยแผ่นวัตกรรม ที่เรียกว่า 'นวัตธรรมแห่งการฉุดช่วย' ให้คนทุกช่วงวัย ‘อยู่อย่างมีความหมายและตายอย่างมีคุณค่า’ 

พ.ศ. 2562 ก่อตั้ง เสถียรธรรมสถาน ‘หุบเขาโพธิสัตว์’ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นสถานปฏิบัติธรรมสำหรับพัฒนาโพธิจิตด้วยคุณธรรมของโพธิสัตว์ เป็นชุมชนชั่วคราวและชุมชนถาวรสำหรับนักบวชสตรีและผู้ปฏิบัติธรรม   

ท่านเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่ได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ อาทิ  

-รางวัล ‘เพชรงามด้านการสาธารณสงเคราะห์’ รางวัลสำหรับผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการสาธารณสงเคราะห์ ประจำปี 2560 ของมหาเถรสมาคม โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเมตตาประทานรางวัล

-รางวัล Spiritual Leadership Award จาก The Living Wellness Foundation ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณในการยุติความรุนแรงในเด็กและสตรี   

-สารคดีชีวิตของท่าน เรื่อง ‘A Walk of Wisdom’ ได้รับรางวัลหนึ่งในสิบสารคดียอดเยี่ยม ของ Santa Barbara International Film Festival พ.ศ. 2548

-รางวัล ‘เสียงแห่งความศักดิ์สิทธิ์’ (Spiritual Leadership Award on Breaking the Circle of Violence) จาก Living Wellness Foundation ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณในการยุติความรุนแรงในเด็กและสตรี พ.ศ. 2548

-รางวัล ‘ผู้อุทิศตนเพื่อมนุษยชาติ’ (Humanitarian Award) จาก Humanity In Unity (HIU) ของ Her Holiness Sai Maa Lakshmi Devi ณ เมืองเวลล์ รัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2551

-รางวัล ‘ผู้นำพุทธโลก’ (World Buddhist Outstanding Leader Award) พ.ศ. 2557

-รางวัล ‘ทูตสันติภาพด้านศาสนสัมพันธ์และสังคมสงเคราะห์ ในการประชุมสันติภาพโลก 2561’ ณ ศาลาว่าการเมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จากองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

วันคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ : 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ด้วยโรคมะเร็ง ณ อาคารธรรมาศรม เสถียรธรรมสถาน กรุงเทพมหานคร  สิริอายุ 68 ปี 1 เดือน 7 วัน   

คำสอนที่คิดถึง

การงาน

ความรัก

ครอบครัว

ความสัมพันธ์

การแก้ปัญหา

การใช้ชีวิต

การให้ อภัย

ความตาย

ปฏิจจสมุปบาท

แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เริ่มต้นสอนปฏิจจสมุปบาทเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยมี ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง (คุณแม่รัญจวน)  เป็นผู้วางรากฐานการสอนโดยใช้แผนภาพแสดงวงจรปฏิจจสมุปบาท  ซึ่งแม่ชีศันสนีย์ได้ใช้สืบทอดมาตลอด 4 ทศวรรษโดยไม่เปลี่ยนแผนภาพนี้เลย เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อคุณแม่รัญจวน ผู้วางรากฐานการสอนอานาปานสติภาวนาและปฏิจจสมุปบาทให้แก่ท่าน    ซึ่งเสถียรธรรมสถานยังคงสืบทอดแนวทางการสอนด้วยแผนภาพนี้มาถึงปัจจุบัน

k.runjuan2.jpg
Capture44.PNG

ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร

4 มกราคม 2564 ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19  เมื่อโลกการเรียนรู้ธรรมย้ายจาก onland สู่ online ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วทำให้คนทุกข์ท้อ  ท่านจึงกลั่นการสอนให้สั้นๆ ว่า ‘ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร’ โดยทิ้งท้ายว่า “เพราะเราอยู่กับความยึดมั่นอันเป็นเหตุแห่งทุกข์...สำรวจมันแล้วอย่าตกหลุมพราง” เป็นการสอนผ่านคลิปวิดิทัศน์ ณ ใต้เรือนรับรอง เสถียรธรรมสถาน หุบเขาโพธิสัตว์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

วงจรปฏิจจสมุปบาท

อยู่กับโลกอย่างสุขง่ายทุกข์ยาก

เพราะรู้จัก ‘จัดใจเราเพื่อเข้าใจโลก’ 

หลายคนอาจสงสัยว่า เพราะเหตุใด แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต จึงใช้แผนภาพประกอบการสอนที่ดูเก่าแก่ ในขณะที่ท่านปรับเทคนิคการสอนและสื่ออื่นๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ  เบื้องหลังสิ่งนี้เรียกว่า ‘ความกตัญญู’  เพราะแผนภาพนี้มีต้นแบบมาตั้งแต่คราวที่ ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง หรือ คุณแม่รัญจวน มาถ่ายทอดการสอนและวางรากฐานหลักสูตร ‘ศิลปะการพัฒนาชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา’ ณ เสถียรธรรมสถาน ด้วยความเมตตาดั่งแม่สอนลูก ทุกครั้งที่จะท่านสอนในธรรมศาลาจึงเป็นการระลึกถึงคุณแม่รัญจวน เป็นความกตัญญูที่ ท่านทำให้ดู มีความสุขให้เห็น ดังคำที่ท่านมักสอนเราว่า ‘คิดถึงแม่ให้ทำงาน’

10.jpg

รวมบทสัมภาษณ์
แม่ชี ศันสนีย์ เสถียรสุต

พิพิธภัณฑ์ในสวนธรรม
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

 งานเสวนาเปิดโครงการจัดตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์ในสวนธรรม
22 กุมภาพันธ์ 2567 งานเสวนาเปิดโครงการจัดตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์ในสวนธรรม : ชีวิตและงาน แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต’  ซึ่งภาคีเครือข่ายผู้ร่วมโครงการได้นำเสนอแรงบันดาลใจและวิสัยทัศน์ในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและสืบสานปณิธานของท่านแม่ชีฯ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย 1) คุณวรรณา อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษานายกสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทยและกรรมการผู้จัดการฝ่ายพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ บริษัท ซี เอ็ม โอ จำกัด (มหาชน)   2) ผศ.ดร. กฤษฎา ศรีแผ้ว  คณบดี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต  3) คุณสุนทรี กุลนานันท์ ผู้ประสานงาน ฝ่ายวิชาการและโครงการ เสถียรธรรมสถาน  ดำเนินรายการโดย คุณช่อผกา วิริยานนท์

ขอเชิญลูกศิษย์ลูกหลานของแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ร่วมสร้าง 'พิพิธภัณฑ์ในสวนธรรม แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต'  เพื่อจัดแสดงเรื่องราวชีวิต คำสอนและผลงานของท่าน  ด้วยการ ส่งภาพ วิดีโอ เสียง หรือ สิ่งของ ของท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต มาให้ที่เสถียรธรรมสถาน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของท่านไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้  ติดต่อสอบถามเพื่อส่งข้อมูลได้ทาง Email: sdsweb.webmaster@gmail.com

bottom of page