เสถียรธรรมสถาน กรุงเทพมหานคร
‘เสถียรธรรมสถาน’ แปลว่า ‘สถานที่ที่มีธรรมอันมั่นคง’
มีความกตัญญูต่อพระธรรม เป็น ‘หลักใจ’
มีการทำงานเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ เป็น ‘หลักการ’
และขอให้มีธรรมเป็นมารดา เป็น ‘หลักชัย’
พ.ศ. 2530 ด้วยความกตัญญูของ ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่มีต่อพระธรรมและพระอุปัชฌาย์ซึ่งมรณภาพขณะที่ท่านบวชได้ 7 พรรษา ท่านได้แปรความสูญเสียนั้นเป็นพลังเพื่อทำกุศล ด้วยการ ‘นำต้นไม้ที่คนไม่ต้องการมาปลูกเป็นป่า’ ขณะที่คนปลูกต้นไม้ ต้นไม้ก็ปลูกใจคน คนที่นี่จึงมีต้นไม้เป็นครูผู้สอนธรรมะจากธรรมชาติ
จาก ‘ป่าปลูกมือ’ จึงเกิดเป็น ‘สวนธรรม’ อันร่มรื่น และเป็นที่พึ่งพิงอิงอาศัยของผู้คนและสรรพชีวิต เกิดเรื่องเล่าเร้ากุศลจากชีวิตของผู้คนมากมายหลากหลายเพศวัย ที่มาเปลี่ยน ‘ทุกข์’ เป็น ‘พ้นทุกข์’ รวมถึงแหล่งพลังงาน ‘สุข 3 ขั้น’ ที่เป็นวัฒนธรรมของชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ สุขง่ายใช้น้อย สุขเมื่อสร้าง และสุขเมื่อให้
“ที่นี่…มีดอกไม้...สวยสดใสในพื้นหญ้า
ที่นี่…มีแววตา...ไร้มายาพาสับสน
ที่นี่…มีความรัก...อบอุ่นนักยามมืดมน
ที่นี่…ไม่อับจน...เพราะมากล้นคนเข้าใจ
ที่นี่…มีแสงธรรม...ส่องนำทางชีวิตได้
ที่นี่…มีน้ำใจ...หล่อเลี้ยงไว้ให้ทุกคน”
ซุ้มธรรมสวัสดี
ธรรมสวัสดี แปลว่าขอให้ปลอดภัยโดยธรรม
เป็นซุ้มเล็กๆ ที่ยืนตัวรอทักทายและนำผู้มาเยือนให้เดินเข้าสู่วิถีชีวิตที่สงบเย็นและเกื้อกูล...คือที่ที่คุณคือคนพิเศษสำหรับเรา
พระพุทธเมตตา
พระผู้เป็นเลิศแห่งการเป็นที่รักและไม่ขัดสน อัญเชิญมาจากแดนพุทธภูมิ (ประเทศอินเดีย) สู่แดนสุวรรณภูมิ ประดิษฐานถาวร ณ เสถียรธรรมสถาน เมื่อ พ.ศ. 2558
หอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
เป็นหอประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับประทานจาก 4 ประเทศ คือ ศรีลังกา ไทย ทิเบตและพม่า
ปี พ.ศ. 2546 นับเป็นปีอันเป็นมงคลยิ่ง เนื่องจาก สมเด็จพระมหานายะกะ ประธานสงฆ์ฝ่ายสยามวงศ์ อรัญวาสี ‘ประเทศศรีลังกา’ ได้ประทาน พระบรมสารีริกธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิ์ แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทย เพื่อเป็นการสืบสานสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับศรีลังกา เนื่องในวาระครบรอบ 250 ปีที่พระอุบาลีมหาเถระได้เป็นพระธรรมทูตไปยังประเทศศรีลังกา ซึ่งการนี้ ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้เดินทางไปรับประทานจากพระหัตถ์ เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการถาวร ณ เสถียรธรรมสถาน
ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้เข้าเฝ้ารับประทาน พระบรมสารีริกธาตุ จาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ‘ประเทศไทย’ เพื่อมาประดิษฐานเป็นการถาวร ณ เสถียรธรรมสถาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานที่จะนำพระธรรมกลับมาสู่คนหนุ่มสาวให้มีชีวิตที่งดงาม เพราะการทำหน้าที่และเป็นอิสระได้โดยธรรมสืบไป
จาก ท่านลามะเติงซัง จากเทือกเขาหิมาลัย ‘ประเทศทิเบต’
และจาก หลวงพ่อไจทีเซา ‘ประเทศพม่า’
เป็นมิติของการส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม และทำให้คนเข้าสู่ปัจจุบันขณะ เพราะตระหนักรู้ว่าความตายเป็นที่สุดรอบของชีวิต เราจึงต้องทำปัจจุบันขณะให้ดี ไม่ปล่อยตนให้ตายทั้งเป็น
หอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เปิดให้เข้าสักการะได้ทุกวัน เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้ระลึกถึงความตายอยู่ทุกขณะ ดังพระวาจามีในครั้งสุดท้ายขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
“เธอจงยังชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง อันเราจะพึงตายเป็นแท้...”
“ชีวิตคือกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเกิดก็ย่อมมีการตาย ความตายเป็นที่สุดรอบของชีวิตอันเราจะพึงตายเป็นแท้ จงเรียนรู้ที่จะเห็นความตายทุกขณะจิตเถิด เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตที่เหลือของเราให้ไม่ตายทั้งเป็น” แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ยืนต้นอยู่เคียงข้างหอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ได้รับประทานมาพร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกา เมื่อครั้งฉลองสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศศรีลังกา
เมื่อแรกที่มาถึงเสถียรธรรมสถาน ยังคงเป็นกิ่งโพธิ์น้อย ต้องเข้าห้องอนุบาลอยู่นานหลายเดือน แล้วจึงปลูกลงดินจริงเมื่อ วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นวันประสูติของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ สามารถอธิษฐานจิต รดน้ำต้นโพธิ์ให้เจริญงอกงามได้ ในขณะเดียวกันใจของเราก็เจริญขึ้นด้วย