top of page

เสถียรธรรมสถาน กรุงเทพมหานคร

‘เสถียรธรรมสถาน’ แปลว่า ‘สถานที่ที่มีธรรมอันมั่นคง’ 

มีความกตัญญูต่อพระธรรม เป็น ‘หลักใจ’ 

มีการทำงานเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ เป็น ‘หลักการ’ 

และขอให้มีธรรมเป็นมารดา เป็น ‘หลักชัย’

 

พ.ศ. 2530 ด้วยความกตัญญูของ ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่มีต่อพระธรรมและพระอุปัชฌาย์ซึ่งมรณภาพขณะที่ท่านบวชได้ 7 พรรษา  ท่านได้แปรความสูญเสียนั้นเป็นพลังเพื่อทำกุศล ด้วยการ ‘นำต้นไม้ที่คนไม่ต้องการมาปลูกเป็นป่า’  ขณะที่คนปลูกต้นไม้ ต้นไม้ก็ปลูกใจคน คนที่นี่จึงมีต้นไม้เป็นครูผู้สอนธรรมะจากธรรมชาติ 

จาก ‘ป่าปลูกมือ’ จึงเกิดเป็น ‘สวนธรรม’ อันร่มรื่น และเป็นที่พึ่งพิงอิงอาศัยของผู้คนและสรรพชีวิต เกิดเรื่องเล่าเร้ากุศลจากชีวิตของผู้คนมากมายหลากหลายเพศวัย ที่มาเปลี่ยน ‘ทุกข์’ เป็น ‘พ้นทุกข์’ รวมถึงแหล่งพลังงาน ‘สุข 3 ขั้น’ ที่เป็นวัฒนธรรมของชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ สุขง่ายใช้น้อย  สุขเมื่อสร้าง และสุขเมื่อให้   
 

“ที่นี่…มีดอกไม้...สวยสดใสในพื้นหญ้า

ที่นี่…มีแววตา...ไร้มายาพาสับสน

ที่นี่…มีความรัก...อบอุ่นนักยามมืดมน

ที่นี่…ไม่อับจน...เพราะมากล้นคนเข้าใจ

ที่นี่…มีแสงธรรม...ส่องนำทางชีวิตได้

ที่นี่…มีน้ำใจ...หล่อเลี้ยงไว้ให้ทุกคน”

3.jpg
2.jpg

ซุ้มธรรมสวัสดี

          ธรรมสวัสดี แปลว่าขอให้ปลอดภัยโดยธรรม

          เป็นซุ้มเล็กๆ ที่ยืนตัวรอทักทายและนำผู้มาเยือนให้เดินเข้าสู่วิถีชีวิตที่สงบเย็นและเกื้อกูล...คือที่ที่คุณคือคนพิเศษสำหรับเรา

พระพุทธเมตตา

พระผู้เป็นเลิศแห่งการเป็นที่รักและไม่ขัดสน อัญเชิญมาจากแดนพุทธภูมิ (ประเทศอินเดีย) สู่แดนสุวรรณภูมิ ประดิษฐานถาวร ณ เสถียรธรรมสถาน เมื่อ พ.ศ. 2558

24.jpg
4.jpg

หอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

เป็นหอประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับประทานจาก 4 ประเทศ คือ ศรีลังกา ไทย ทิเบตและพม่า

          ปี พ.ศ. 2546 นับเป็นปีอันเป็นมงคลยิ่ง เนื่องจาก สมเด็จพระมหานายะกะ ประธานสงฆ์ฝ่ายสยามวงศ์ อรัญวาสี ‘ประเทศศรีลังกา’ ได้ประทาน พระบรมสารีริกธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิ์ แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทย เพื่อเป็นการสืบสานสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับศรีลังกา เนื่องในวาระครบรอบ 250 ปีที่พระอุบาลีมหาเถระได้เป็นพระธรรมทูตไปยังประเทศศรีลังกา ซึ่งการนี้ ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้เดินทางไปรับประทานจากพระหัตถ์ เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการถาวร ณ เสถียรธรรมสถาน

          ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้เข้าเฝ้ารับประทาน พระบรมสารีริกธาตุ จาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ‘ประเทศไทย’ เพื่อมาประดิษฐานเป็นการถาวร ณ เสถียรธรรมสถาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานที่จะนำพระธรรมกลับมาสู่คนหนุ่มสาวให้มีชีวิตที่งดงาม เพราะการทำหน้าที่และเป็นอิสระได้โดยธรรมสืบไป

          จาก ท่านลามะเติงซัง จากเทือกเขาหิมาลัย ‘ประเทศทิเบต’

          และจาก หลวงพ่อไจทีเซา ‘ประเทศพม่า’

          เป็นมิติของการส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม และทำให้คนเข้าสู่ปัจจุบันขณะ เพราะตระหนักรู้ว่าความตายเป็นที่สุดรอบของชีวิต เราจึงต้องทำปัจจุบันขณะให้ดี ไม่ปล่อยตนให้ตายทั้งเป็น

          หอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เปิดให้เข้าสักการะได้ทุกวัน เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้ระลึกถึงความตายอยู่ทุกขณะ ดังพระวาจามีในครั้งสุดท้ายขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“เธอจงยังชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง อันเราจะพึงตายเป็นแท้...”

          “ชีวิตคือกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเกิดก็ย่อมมีการตาย ความตายเป็นที่สุดรอบของชีวิตอันเราจะพึงตายเป็นแท้ จงเรียนรู้ที่จะเห็นความตายทุกขณะจิตเถิด เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตที่เหลือของเราให้ไม่ตายทั้งเป็น”  แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

6.jpg

ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ยืนต้นอยู่เคียงข้างหอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ได้รับประทานมาพร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกา เมื่อครั้งฉลองสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศศรีลังกา

เมื่อแรกที่มาถึงเสถียรธรรมสถาน ยังคงเป็นกิ่งโพธิ์น้อย ต้องเข้าห้องอนุบาลอยู่นานหลายเดือน แล้วจึงปลูกลงดินจริงเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นวันประสูติของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ สามารถอธิษฐานจิต รดน้ำต้นโพธิ์ให้เจริญงอกงามได้ ในขณะเดียวกันใจของเราก็เจริญขึ้นด้วย

6.jpg

ซุ้ม ‘จัดดอกไม้...จัดใจ’

            ดอกไม้สำหรับสักการะพระบรมสารีริกธาตุเมื่อคนจัดดอกไม้
ดอกไม้ก็จัด (ใจ) คน

14.jpg

ถ้ำนิพพานชิมลอง

เท้าสัมผัสทราย ใจสงบเย็น  สัมผัสสภาวะที่เรียกว่านิพพาน 

          “นิพพานชิมลอง ใช้คำไหนก็ได้ นิพพานน้อย ๆ ชั่วขณะ เป็นตัวอย่างสินค้า ตัวอย่างมักจะดีกว่าสินค้าที่ขายจริง...นิพพานชิมลอง ก็เป็นของที่ชิมลองดูก่อน ถูกใจแล้วจึงค่อยซื้อก็ได้ ชิมลองดูก่อนสิ” พุทธทาสภิกขุ

         

ถ้ำนี้เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ต่อยอดมาจากองค์ความรู้การสร้างบ้านดิน ที่ขยายให้เป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่  มีที่มาจากโจทย์ท้าทายที่ว่า เราจะใช้การปฏิบัติธรรม 1 วันอย่างไรเพื่อให้เด็กหนุ่มกว่า 200 คนเรียนรู้ถึงการผันพลังงานที่พลุ่งพล่านในวัยเยาว์ให้ระเบิดเป็นพลังสร้างสรรค์เพื่อผู้อื่น


ปัจจุบัน ถ้ำนิพพานชิมลองได้บูรณะโดยเปลี่ยนจากดินเป็นปูน และใช้เป็นพื้นที่สำหรับการนั่งภาวนาและเป็นเส้นทางการเดินจงกรมในทุกวัน

14.jpg
6.jpg

ประติมากรรม
‘นั่งร่วมด้วยช่วยชี้แจง’

ในวาระชาตกาล 100 ปีท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เสถียรธรรมสถานได้ถอดคุณธรรมของท่านอาจารย์ออกมาเป็นประติมากรรมรูปเหมือน ซึ่งได้นำมาประดิษฐานไว้ ณ ลานโรงเรียนพ่อแม่ โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) เมตตามาเป็นประธานในการหล่อ และประธานในการรับประติมากรรมมาประดิษฐาน ณ ลานโรงเรียนพ่อแม่ เมื่อวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2549 

ศิลปินผู้ปั้นประติมากรรม : อาจารย์ประเทือง ธรรมรักษ์

ประติมากรรม
‘อนุสาวรีย์แห่งความดี
ความงาม ความจริง’

รูปทรงหลักของประติมากรรมนี้คลี่คลายมาจากรูปทรงของผู้หญิงที่กางมือออกทั้งซ้ายและขวาเพื่อโอบอุ้มรูปทรงต่างๆ ทั้ง 72 ชิ้นที่ถูกห้อยไว้ โดยรูปทรงเหล่านี้หมายถึงผลแห่งคุณความดีของผู้ที่ประกอบกรรมดี ประติมากรรมนี้ถือกำเนิดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษาของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเหล่าพสกนิกรได้ประจักษ์ในภารกิจที่ทรงทำเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พสกนิกรชาวไทยอย่างต่อเนื่อง จึงร่วมใจกันแสดงกตัญญุตาด้วยการบริจาคทรัพย์และแผ่นโลหะซึ่งจารึกนามของผู้ที่เป็นความดี ความงาม และความจริงของตนเอง แล้วนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการหล่อประติมากรรม

          ผู้ออกแบบและดำเนินการสร้าง : อาจารย์วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร

13.jpg
6.jpg
ลานโรงเรียนพ่อแม่ 1.JPG

ลานโรงเรียนพ่อแม่

             ศาลาแปดเหลี่ยมเปิดโล่งที่แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย
เพื่อรองรับนานากิจกรรมของงานโครงการต่าง ๆ 

สะพานแห่งสติ

เมื่อ 30 ปีก่อน ไม้แต่ละแผ่นที่ถูกวางพาดเรียงเป็นแนวยาวสูงต่ำต่างกัน นำทางสู่ลานโพธิ์ เกิดจากความคิดสนุก ๆ ของผู้ออกแบบ คือ คุณธีระ พรหมปัทมะ คุณธีระเคยเล่าให้ฟังว่า “ผมหลีกเลี่ยงความจำเจที่เคยชิน พอทำเสร็จคนก็บ่นว่าเดินลำบาก  ท่านแม่ชีศันสนีย์จึงตั้งชื่อว่า ‘สะพานแห่งสติ’”

          ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้เคยเมตตากล่าวถึง ‘สะพานแห่งสติ’ ไว้ว่า

          “ถ้าการเดินของเรามี ‘สติ’ เป็นเครื่องมือก็จะทำให้ก้าวย่างของเราไม่เบียดเบียนใคร แต่ถ้าเราเผลอจากสติเมื่อไร เราก็จะเจ็บตัวทันที ‘สะพานแห่งสติ’ สอนให้เราตื่น และตระหนักรู้ในทุกก้าวย่างของเราที่จะเคารพตัวเอง และเคารพสรรพสิ่งที่อยู่รายรอบ เมื่อเราสามารถข้าม ‘สะพานแห่งสติ’ ได้ นั่นก็หมายความว่าเรารอดพ้นได้”

          ‘สะพานแห่งสติ’ เป็นเส้นทางเดินของอาคันตุกะมากมายนับพันนับหมื่นชีวิตที่ได้มาเยี่ยมเยือนเสถียรธรรมสถาน เมื่อเวลาผ่านไป คำว่า ผุพัง เสื่อมสลาย ก็ค่อย ๆ ปรากฏตัว การปรับปรุงให้ ‘สะพานแห่งสติ’ กลับมาพร้อมใช้งานอย่างปลอดภัยเกิดขึ้นตามความจำเป็นเรื่อยมา

          ที่สุด พ.ศ. 2565 หรือเมื่อ 30 ปีผ่าน ก็ถึงเวลาที่จะปรับปรุง ‘สะพานแห่งสติ’ ครั้งใหญ่ และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2565 

7.jpg
4.jpg
8.jpg

ธรรมศาลา

จุดศูนย์กลางของเสถียรธรรมสถาน

          เมื่อสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาล ศาลามุงจากที่เคยใช้สอยในทุกงานตั้งแต่เริ่มสร้างเสถียรธรรมสถาน ก็มีอันผุพังเปลี่ยนสภาพ และ ‘ธรรมศาลา’ ก็คือสิ่งปลูกสร้างอันถาวรแห่งแรกของเสถียรธรรมสถาน ด้วยฝีมือการออกแบบของอาสาสมัครที่ทำงานรับใช้พระธรรมอย่างถ่อมตัว คุณธีระ พรหมปัทมะ จากโจทย์สั้น ๆ ของ ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่ว่า

          “ศาลาต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ขโมยธรรมชาติ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด...ต้องติดดิน”

          ธรรมศาลาเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534

          กว่า 30 ปีผ่าน ธรรมศาลายังคงติดดินและกลมกลืนกับธรรมชาติที่แวดล้อมอย่างไม่ขโมยธรรมชาติไม่เปลี่ยนแปลง รองรับกิจกรรมทางธรรม, การมาเยือนของเพื่อนร่วมทุกข์ และกัลยาณมิตรผู้สนใจในธรรมเรือนแสนอย่างมั่นคง

6.jpg

ประติมากรรม ‘อนุสาวรีย์พระอาทิตย์ที่ติดดิน’

     ประติมากรรมรูปพระอาทิตย์ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสองเมตร น้ำหนักกว่าหนึ่งตัน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ และแผ่นทองแดงที่เหล่าพสกนิกรได้จารึกนามไว้พร้อมกับความดีที่จะทำถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดสร้างขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจจากการทรงงานอย่างหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยว่าพระองค์เปรียบประดุจแสงแห่งปัญญาของแผ่นดิน เป็นดั่งพระอาทิตย์ที่ส่องสว่างเรืองรองไปทั่วทุกหนแห่ง ทว่ากลับทรงดำเนินพระชนม์ชีพอย่างเรียบง่าย พอเพียง และเป็นแบบอย่างแก่พสกนิกรชาวไทยด้วยพระราชจริยวัตรอันงดงามตามแนวพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนนีที่ว่า

      “...อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพลที่แปลว่ากำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน...”

ประติมากรรมตั้งอยู่บนเนินดิน ณ เสถียรธรรมสถาน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550

ศิลปินผู้ออกแบบและดำเนินการสร้าง : อาจารย์วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร

10.jpg

ลานโพธิ์

ลานหญ้าเขียวขจีซึ่งมีต้นโพธิ์ที่งามสง่ายืนต้นตระหง่านสอนเรื่องการมีชีวิตอย่างมีความสุขที่ได้ให้โดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังเช่น ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อมองดูต้นโพธิ์ เราจะเห็นว่าตลอดชีวิตของเรา เราก็เหมือนต้นไม้เล็ก ๆ ที่เมื่อเดินทางมาสักระยะหนึ่งก็เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ มีร่มเงาให้นกหนูมาอาศัย มีผู้คนมาอาศัยร่มเงาได้อย่างไม่เลือกปฏิบัติเช่นกัน”

          ปัจจุบัน ลานโพธิ์รองรับกิจกรรมนานา อาทิ การขริบผมผู้บวชในโครงการบวชพุทธสาวิกาศีล 10, การสวดมนต์ การบิณฑบาตของเหล่าพุทธสาวิกา ในวันสำคัญทางศาสนา, การเดินจงกรม, การทำโยคะภาวนาของโครงการอานาปานสติภาวนา

6.jpg

ประติมากรรม ‘หัวใจผู้หญิง...หัวใจแม่...หัวใจโพธิสัตว์’

            อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) มอบให้เสถียรธรรมสถาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประชุมนานาชาติศากยธิดา ครั้งที่ 12 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2554 เพื่อบ่งบอกถึงการจับมือกันของผู้หญิงเพื่อก้าวเดินบนมรรคาสู่การหลุดพ้น

6.jpg

เรือนไทย

         “บ้านหลังนอกที่ส่งเสริมให้บ้านหลังใน หรือบ้านใจ อบอุ่นมั่นคง หนักแน่น อาจหาญ ที่จะ ปล่อยวาง ในขณะที่ทำหน้าที่ และพบกับความเป็นอิสระที่แท้จริง”  แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

           “การออกแบบจะเน้นที่ความมั่นคงถาวร และรักษารูปแบบโดยใช้ไม้เป็นหลัก...สถาปัตยกรรมตัวเดียวโดด ๆ ทำอย่างไรก็ไม่ได้เรื่อง ถ้ารกตาหรือหญ้าท่วมถึงเอว ออกแบบเลิศขนาดไหนก็ดูให้สวยยาก...แม่ชีเอาใจใส่ในด้านนี้ ผมประทับใจมาก” รศ. ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สถาปนิกผู้ออกแบบเรือนไทยสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2535

6.jpg

อัฒจันทร์แห่งรัก

ลานวงกลมเล็ก ๆ ท่ามกลางสวนสวย ที่ออกแบบเพื่อโอบอุ้มผู้คนหลากหลายให้มารวมกันดุจวงศาคณาญาติ  รองรับกิจกรรมอันสำคัญมามากมาย อาทิ การเทศน์มหาชาติของเหล่าพุทธสาวิกามรรค 8, การแสดง Spiritual Entertainment ที่สนุกสนาน, การเสวนาธรรมครั้งสำคัญ, การแถลงข่าวเปิดโครงการ การจัดรายการถ่ายทอดสด ฯลฯ ล้วนเคยเกิดขึ้นที่นี่

             ปัจจุบัน เป็นสถานที่เพื่อการต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการอานาปานสติภาวนาทุกเย็นวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ผู้เตรียมบวชในโครงการบวชพุทธสาวิกาศีล 10 ทุกสัปดาห์ที่สองของทุกเดือน และผู้เข้าร่วมวันครอบครัวแห่งสติ ทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือน

6.jpg
6.jpg

อาคารสาวิกา - อาคารสิกขาลัย

ห้องเรียนที่เรียบง่าย งดงาม ประหยัดพลังงาน
สร้างพุทธศาสตรมหาบัณฑิตสู่สังคมมารุ่นแล้วรุ่นเล่า 

ปัจจุบันรองรับการประชุมและกิจกรรมนานา

6.jpg

ห้องสมุดแห่งปัญญา

สะอาด...สว่าง...สงบ...บนชั้นที่สามของอาคารสาวิกา มีหนังสือธรรมะและหนังสือเด็กดี ๆ มากมายให้อ่าน แต่อย่าเพลินจนลืมอ่านหนังสือเล่มใน...คือใจของตัวเอง และรองรับการประชุมนานา รวมทั้งการทำกิจกรรมของ ISV Club (International Spiritual Volunteer Club) ทุกวันอาทิตย์ที่สามของทุกเดือน

5.jpg
5.jpg

ถ้ำพระอารยตารามหาโพธิสัตว์

ถ้ำที่ประดิษฐานของพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ 21 ปาง ตามคติความเชื่อที่ว่า พระอารยตารามหาโพธิสัตว์ทรงเป็นมหาโพธิสัตว์ที่ไม่เคยปฏิเสธการช่วยเหลือ ทรงเป็นแสงสว่างแห่งความรัก ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีที่มีการกระทำด้วยจิตที่หลุดพ้น ทรงมีความกรุณาและปัญญาพร้อมที่จะช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว สามารถเอาชนะสถานการณ์ที่ยากลำบาก ด้วยมิติทางความคิดที่มีคุณธรรม 8 ประการ เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ได้แก่ ทำงานอย่างไม่มีความถือตัวอวดดี, ไม่มีความโง่เขลา, ไม่มีความอาฆาตพยาบาททั้งปวง, ไม่มีความอิจฉาริษยา, ไม่มีความคิดเห็นที่ผิด, ไม่มีความโลภ, ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น, ไม่มีความยึดติด หรือความเคลือบแคลงสงสัยทั้งปวง

          บุคคลที่ใช้คุณธรรมทั้งหมดขององค์อารยตารามหาโพธิสัตว์มาอาบรดใจจะทำให้ได้พบกับปาฏิหาริย์แห่งการเปลี่ยนแปลงและสามารถพาตัวเองและสังคมไปสู่ความสงบและศานติได้

          นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่สำหรับการทำสมาธิภาวนา และการตั้งสัจจะอธิษฐานที่จะใช้ชีวิตอยู่บนหนทางของการมีหัวใจผู้หญิง หัวใจแม่และหัวใจโพธิสัตว์

          ถ้ำพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ เปรียบดังครรภ์ของแม่ การเดินเข้าไปภายในถ้ำจึงให้ความรู้สึกอบอุ่นไม่ต่างจากการมีโอกาสได้กลับเข้าไปซึมซับไออุ่นภายในท้องของแม่  อีกนัยหนึ่ง ถ้ำนี้จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อบูชาหัวใจผู้หญิง หัวใจแม่ หัวใจโพธิสัตว์ทุกพระองค์

          ปัจจุบัน นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติภาวนาอันสัปปายะยิ่งแล้ว ยังเป็นพื้นที่ของพิธีมอบตาราอวอร์ด รางวัลสำหรับคนปลุกหัวใจสังคมด้วยหัวใจโพธิสัตว์ และพิธีมอบธรรมบัตรแก่ผู้บวชในโครงการบวชพุทธสาวิกาศีล 10 ด้วย 

6.jpg

พระมหาเจดีย์พระอารยตารามหาโพธิสัตว์หมื่นพระองค์

พระมหาเจดีย์ที่รองรับการประดิษฐานของพระศรีอาริยเมตไตรย รายล้อมด้วยพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ ผู้อธิษฐานจิตที่จะเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป

6.jpg
พระพุทธสาวิกามหาปารมี 1.jpg

พระพุทธสาวิกามหาปารมี

เป็นพระปางปฐมเทศนา หน้าตัก 49 นิ้ว แกะสลักจากหินไวท์วีนัส ประเทศอิตาลี พระครูสังฆรักษ์ ปารมี สุรยุทฺโธ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาแก้ว (ผาซ่อนแก้ว) จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มอบให้ประดิษฐานเป็นการถาวร ณ อาคารสิกขาลัย (ชั้นดาดฟ้า) เสถียรธรรมสถาน กรุงเทพมหานคร  โดยท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เป็นประธานในพิธีรับมอบ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2554

เหตุที่ได้ชื่อว่า พระพุทธสาวิกามหาปารมี ก็เพื่อเป็นการระลึกถึง พระครูสังฆรักษ์ ปารมี สุรยุทฺโธ ที่พระอาจารย์มีความกตัญญูกตเวทิตาต่อแม่ของท่าน โดยนำปัจจัยที่ญาติโยมทำบุญมาสร้างพระให้สังฆะผู้หญิงด้วยความระลึกถึงพระคุณแม่เป็นที่สุด

4.jpg

อู่ข้าว-อู่น้ำ

‘อู่ข้าว’ พบกับ Clean food ที่รับประกันว่า Good Taste เพราะอาหาร (ทุกจาน) ปรุงด้วยรักและความเอาใจใส่  ครัวของ ‘อู่ข้าว’ เป็นครัวทันสมัยที่ได้รับการออกแบบจากทีมงานมืออาชีพ โดยได้รับการบริจาคสร้างจาก คุณฤทธิ์ และ คุณยุพิน ธีระโกเมน แห่ง บริษัทเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด

          “เราต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า สิ่งที่ไม่ดีห้ามทำให้ลูกค้าเด็ดขาด”

          คุณยุพิน ธีระโกเมน

          กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น MK

          กล่าวไว้ ณ เสถียรธรรมสถาน

          เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557

          ที่ ‘อู่ข้าว’ อาหารมังสวิรัติทุกจาน เราเตรียมด้วยความรัก ผักและวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารทุกจาน ส่วนหนึ่งมาจาก ‘ความรัก ความศรัทธา’ มาด้วย ‘จิตที่คิดจะให้’ ของบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งนักบวชสตรีและทีม ‘อู่ข้าว’ ออกไปรับทุกสัปดาห์

          เมนูแนะนำ ผัดไทยเส้นมะละกอ, ก๋วยเตี๋ยวเห็ดตุ๋น

          นึกถึงอาหารมังสวิรัติจานอร่อย...นึกถึง ‘อู่ข้าว’

          “เราจะไม่ถามว่าคุณจะกินอะไร แต่เราจะถามว่าเมื่อกินแล้ว คุณจะทำอะไร...ให้ใครได้บ้าง”

 

‘อู่น้ำ’

          spiritual sips
          เป็นร้านกาแฟเล็กๆ ที่รสชาติไม่เล็กตามขนาดร้าน

          สนับสนุนโดยผู้ใหญ่ใจดี...คุณจิรวรรณ พิริยเลิศศักดิ์ กรรมการผู้จัดการภัตตาคาร ‘ฮั่วเซ่งฮง’ และ ‘มูอิ เบเกอรี่’

          “ให้สิ่งดีๆ แล้วสิ่งดีๆ จะกลับมาหาเรา”

          คุณจิรวรรณกล่าวไว้ ณ เสถียรธรรมสถาน

          เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2558

          ด้วยแนวคิด Grow together ร้านกาแฟในสวนธรรม

          ‘ตา’ ดูธรรมชาติ

          ‘หู’ ฟังธรรมะ

          ‘ใจ’ สงบ

          ‘ปาก’ จิบ Spiritual Sip

          เริ่มชีวิตดี ๆ ได้ทุกเช้าที่นี่

16.jpg
4.jpg
11.jpg

สนามเด็กเล่นและลานทราย

ตั้งอยู่ติดกับ ‘ธรรมศาลา’ ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายฟังธรรมบรรยาย เด็ก ๆ ผู้เป็นลูกหลานก็ได้ใช้เวลาเล่นและเรียนรู้กับเพื่อนวัยเดียวกัน ณ สนามเด็กเล่นและลานทราย โดยยังอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่  ทั้งยังเป็นพื้นที่เพื่อรองรับนานากิจกรรมของ ‘ครอบครัวแห่งสติ’ ด้วย 

ที่สำคัญคือการจัดพื้นที่เล่นของเด็กๆ ให้อยู่ใกล้กับ 'ธรรมศาลา' นี้  มาจากแนวคิดที่ท่านแม่ชีศันสนีย์ ต้องการสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมตระหนักถึงการนำธรรมไปใช้ในชีวิตจริงซึ่งไม่สามารถแยกตนเองออกจากการกระทบทางโลกได้ แม้เด็กๆ จะเรียนรู้ที่จะเล่นอย่างสงบ แต่บางครั้งความสนุกก็อาจทำให้เสียงดังมากระทบหูของผู้ปฏิบัติธรรมบ้าง  อันเป็นบททดสอบที่ท้าทายว่าเราจะจัดใจก่อนจัดการการอยู่ร่วมกันนี้อย่างไร  

6.jpg

มหาสมุทรแห่งปัญญา

ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ตั้งใจให้ ‘มหาสมุทรแห่งปัญญา’ เป็นที่ที่ให้ทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย ได้เรียนรู้ความหมายของชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างมีความหมาย คืออยู่เย็นเป็นสุข...และพ้นทุกข์ร่วมกัน ปัจจุบัน เป็นพื้นที่รองรับการทำกิจกรรมของงานโครงการต่าง ๆ และการแสดงงานศิลปะ เป็นอาทิ

6.jpg

อาคารธรรมาศรม

‘ธรรมาศรม’ คือชุมชนแห่งสติ (Learning Community of Mindfulness Healing Network) ที่รวบรวมนวัตกรรมแห่งการฉุดช่วยเพื่อให้กายรอด ใจรอด สังคมรอด จากความทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และจากพราก ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 2.5 ไร่ ทางด้านในสุดของเสถียรธรรมสถาน มีแนวคิดในการออกแบบที่เรียกว่า ‘ธรรมนิเวศ’ คือเน้นสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความสัปปายะในทุกด้าน มีความสงบ และเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม ร่วมกับองค์ความรู้ทางธรรมชาติบำบัด สร้างวิถีชีวิตใหม่อย่างเข้าใจธรรมะ ธรรมชาติ และการพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่การกินอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากการเบียดเบียน การอยู่ท่ามกลางต้นไม้และสรรพชีวิตใหญ่น้อยที่เกื้อกูลต่อการเห็นธรรมะจากธรรมชาติ การนอนในอาคารสถานที่ที่เกื้อกูลสอดคล้องกับสภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติธรรมทุกวัย ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ แม่ลูกอ่อน ผู้ป่วย คนชรา และผู้ต้องการธรรมเยียวยาในระยะสุดท้ายของชีวิต

“‘ธรรมาศรม’ คือมรดกที่เราจะให้กับโลก ที่จะได้ช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ต่อไป ‘ธรรมาศรม’ ไม่ใช่โครงการฯ แต่เป็นการร้อยเรียงงานทั้งหมดในการทำงาน 3 ทศวรรษของเสถียรธรรมสถาน ให้เป็นศูนย์วิจัยทางธรรมเพื่อสาธิตการนำธรรมะออกไปเยียวยาสังคมด้วยองค์ความรู้ทางพุทธศาสนาตลอดสาย ตั้งแต่ปริยัติ ปฏิบัติส่งเสริมให้คนปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โดยมีเป้าหมายคือการบรรลุธรรม…

“‘ธรรมาศรม’ เกิดขึ้นเพราะมีบุญภาคีของหัวใจแม่ หัวใจโพธิสัตว์ ในหัวใจของลูกทุกคน เราได้มีโอกาสเชิญศิลปินหลายท่านมาช่วยกันออกแบบอาคารธรรมาศรม และเราได้เห็นว่าแต่ละห้องงดงามและจริงใจที่จะส่งเสริมให้คนได้บรรลุธรรม” ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

6.jpg

หมอชีวกโกมารภัจจ์

หมอชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณเป็นแพทย์ประจำพระองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘หมอเทวดา’

วันที่ 9 ธันวาคม 2561 พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) BA MA Ph.D เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล มอบรูปสลัก ‘หมอชีวกโกมารภัจจ์’ (พระหายโรค) วัยหนุ่ม จากหินสีชมพู เมืองไจปู หนัก 2 ตัน ซึ่งมีองค์เดียวในโลกแก่ ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เพื่อให้ตระหนักว่าผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ จะต้องมีพลังมากพอที่จะต่อสู้กับความไม่เชื่อถือในเบื้องต้น และต้องเปี่ยมด้วยศรัทธาในการสืบค้นหาความรู้ด้านการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยตนเองจนมีความเชี่ยวชาญ เหมือนหมอชีวกโกมารภัจจ์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ท่านแม่ชีศันสนีย์และเหล่าจิตอาสาผู้ที่มีหัวใจโพธิสัตว์ ในการทำงานฉุดช่วยมวลมนุษยชาติต่อไป

หมอชีวกโกมารภัจจ์ ประดิษฐาน ณ กลางบ่อน้ำระหว่างอาคารธรรมาศรมกับมหาสมุทรแห่งปัญญา

หมอชีวกโกมารภัจจ์.jpg
15.jpg

ห้องเกลือหิมาลายัณ

ห้องเกลือหิมาลายัณเป็นห้องที่สร้างขึ้นจากผลึกเกลือสีชมพูจากเหมืองเกลือประเทศปากีสถาน ซึ่งรู้จักกันในนาม Original Himalayan Crystal Salt ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผลึกหินเกลือที่มีคุณภาพสูงที่สุดในโลก โดยห้องเกลือหิมาลายัณเป็นหนึ่งในสถานที่สำหรับปฏิบัติสมาธิภาวนาของผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม

          "ห้องเกลือแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความปรารถนาให้ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมในสวนธรรมที่ร่มรื่น ได้มีโอกาสที่จะหายใจอย่างมีสติ สร้างสมดุลให้กาย-ใจแข็งแรง" ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

          ห้องเกลือหิมาลายัณ  ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ของอาคารธรรมาศรม

ร้านปลอดภัย.JPG

ร้านปลอดภัยโดยธรรม

เกิดจากความคิดริเริ่มของ ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ด้วยความมุ่งมั่นที่จะฉุดช่วยผู้ป่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยอาหารจากธรรมชาติที่ปลอดภัยไร้สารเคมี สำหรับผู้ที่ดูแลรักษาสุขภาพตัวเองและทุกท่านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีปราศจากโรคภัย ด้วยผักไร้สารเคมี เครื่องปรุงที่ปราศจากสารกันบูด ของใช้ที่ไม่มีสารเคมี ร้านปลอดภัยโดยธรรม ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ของอาคารธรรมาศรม

ร้านปลอดภัย.JPG
bottom of page